การพัฒนาทักษะการสะกดคำภาษาอังกฤษ โดยการใช้แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ (พิบูลบำรุง)
เนื้อหาบทความหลัก
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาการสะกดคำภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังเรียนด้วยแอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อการใช้แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ (พิบูลบำรุง) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 สุ่มนักเรียนมาห้องละ 6 คน รวมเป็นจำนวน 18 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ทั้งหมด 5 แผน แผนละ 2 คาบ (คาบละ 1 ชั่วโมง) เป็นเวลา 10 วัน แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad บัตรประสมคำ เกมเพลง บัตรภาพ ใบงานฝึกทักษะด้านการอ่านผสมกับทักษะอื่น จำนวน 3 ชุดและแบบฝึกหัดการผสมตัวอักษรและสระในสมุด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบการอ่านคำศัพท์ก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน 20 คำ ประกอบด้วยคำศัพท์ที่อยู่ในบทเรียน 10 คำ และคำศัพท์นอกบทเรียน 10 คำ ที่มีค่าความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (IOC) เท่ากับ 0.67-1.0 แบบสอบถามมาตรประมาณค่าเพื่อสำรวจความพึงพอใจของนักเรียนต่อการใช้แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad ร่วมกับสื่อประสม
ผลการวิจัยพบว่า ทักษะการสะกดคำภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad ดีขึ้น มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน เท่ากับ 8.77 และ14.5 ตามลำดับ และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 2.71 และ 2.81 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนทั้งหมด 18 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีใช้แอปพลิเคชัน AGO Phonics Sound Pad โดยรวมมีค่าเฉลี่ย 2.68 ซึ่งอยู่ในระดับมาก